วัดชนะสงคราม

สวัสดีค่ะทุกคน ท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19 ที่กระจายอยู่ทั่วโลกทำให้เราไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ ประกอบกับการค้นพบว่าการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งยังมีสถานที่น่าสนใจมากมายที่ Knot ยังไม่มีโอกาสได้ไปสัมผัสมากนัก พอมีวันว่าง Knot ก็ตัดสินใจวางแผนออกเที่ยวสถานที่ที่น่าสนใจในกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่น ๆ ในประเทศไทยค่ะ โดยทริป 1 วันครั้งนี้ Knot และคุณ Juth ขอพาทุกคนไปไหว้พระขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองไทยมาอย่างยาวนาน โดยเริ่มต้นที่ วัดชนะสงคราม กันค่ะ

ก่อนอื่นต้องบอกว่าเราไม่ได้นึกถึงวัดชนะสงครามเป็นแห่งแรกสำหรับทริปนี้ แต่เรานึกถึงวัดบวรนิเวศน์ราชวรมหาวิหารซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากวัดชนะสงครามค่ะ แต่เนื่องจากวัดบวรฯ น่าจะหาที่จอดรถยาก สอบถามเจ้าถิ่นเด็กเซนฟรังก์ น้องแนะนำให้ไปจอดรถที่วัดชนะสงครามแล้วเดินผ่านบางลำพูมาวัดบวรฯ ค่ะ จะจอดรถแล้วเดินไปที่อื่นก็กะไรอยู่ Knot ก็ทำการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับวัดชนะสงครามแห่งนี้ พบว่ามีความน่าสนใจมาก โดยเฉพาะ ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อที่แม่ทัพนายกองของประเทศไทยต้องมาขอพรก่อนออกศึกและชนะกลับมาทุกครั้ง นั่นก็คือ “ชนะสงคราม” นั่นเองค่ะ Knot จึงอยากไปขอพระให้ได้ “ชัยชนะ” ในทุกเรื่องทั้งการงาน การเงิน และความรักค่ะ

การเดินทางไปวัดชนะสงคราม

วัดชนะสงคราม อยู่ใกล้ ๆ ตลาดบางลำพูค่ะ การเดินทางก็สามารถเดินทางมาได้โดยรถประจำทางสาย 2, 3 และ 33 ค่ะ หรือมาทางเรือก็มาลงที่ท่าพระอาทิตย์ได้ค่ะ MRT ที่ใกล่ที่สุดจะเป็นสถานีสนามไชยค่ะ แต่ก็ต้องต่อรถหรือเรือมาอีกทอดค่ะ สะดวกที่สุดจึงเป็นการขับรถยนต์ส่วนตัวไปค่ะ วัดมีที่จอดรถอยู่ด้านข้างวัดค่ะ ค่าจอดรถชั่วโมงละ 10 บาทเท่านั้นค่ะ ถือว่าทำบุญกันไปค่ะ ถนนหน้าวัดชื่อถนนจักรพงษ์ค่ะ ซึ่งใกล้ ๆ กับถนนข้าวสารชนิดเรียกว่าเดินถึงกันได้ค่ะ

ประวัติความเป็นมาของวัดชนะสงคราม

วัดชนะสงคราม ชื่อเต็มว่า “วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร” เป็นพระอารามหลวงชั้นโท สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา มีชื่อเดิมว่า “วัดกลางนา” เพราะในอดีตพื้นที่โดยรอบเป็นทุ่งนา ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 1 กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดกลางนาใหม่ทั้งอารามและเปลี่ยนชื่อวัดเป็น “วัดตองปุ” และให้เป็นวัดพระสงฆ์ฝ่ายรามัญ เพื่อเป็นการเทิดเกียรติทหารชาวรามัญในกองทัพของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการต่อสู้กับพม่า นอกจากนี้ คำว่า “ตองปุ” แปลว่า “ที่รวมพลทหารเพื่อไปออกรบ”

ซึ่งต่อมาหลังจาก สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทนำทัพชนะสงคราม 3 ครั้งด้วยกัน ซึ่งได้แก่ สงครามเก้าทัพ พ.ศ. 2328 สงครามท่าดินแดงและสามสบ พ.ศ. 2329 และสงครามป่าซาง นครลำปาง พ.ศ. 2330 รัชกาลที่ 1 จึงได้พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดไชยชนะสงคราม” ตัดเหลือเพียง “วัดชนะสงคราม” ในเวลาต่อมา

วัดชนะสงครามได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงเริ่มดำเนินการก่อสร้างที่บรรจุพระอัฐิเจ้านายฝ่ายกรมพระราชวังบวรสถานมงคลที่เฉลียงพระอุโบสถด้านหลังตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงพระราชอุทิศพระราชทรัพย์ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ดำเนินการ แต่การก่อสร้างมาแล้วเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งพระราชทานพระราชทรัพย์ให้ราชบัณฑิตยสภาก่อสร้าง ขณะนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นนายกราชบัณฑิตยสภาและสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงก่อสร้างจนเสร็จสิ้น ได้มีพิธีอัญเชิญพระอัฐิจากพระราชวังบวรสถานมงคลไปประดิษฐานใน พ.ศ. 2470

เอกลักษ์ของสถาปัตยกรรมสกุลช่างวังหน้า

อาคารหลักของวัดชนะสงคราม คือ “พระอุโบสถ” ซึ่งเป็นอาคารแบบไทยประเพณีที่คล้ายคลึงกับวัดทั่วไป แต่หากพิจารณาที่หน้าบัน เราจะพบสิ่งที่น่าสนใจอยู่ 2 อย่าง ได้แก่ หน้าบันของวัดชนะสงครามนอกจากจะประดับด้วยรูปพระนารายณ์ทรงครุฑแล้วยังมีการเจาะช่องหน้าต่างไว้ใต้รูปพระนารายณ์ทรงครุฑอีกด้วย อย่างที่สองคือหน้าบันของวัดชนะสงครามมีเพียงรวยระกา ไม่มีกรอบนาคสะดุ้ง ทำให้ไม่มีความคดโค้ง มองแล้วคล้ายหน้าจั่วบ้านเรือนทัวไป ซึ่งนี่ถือเป็นลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของงานสถาปัตยกรรมสกุลช่างวังหน้าที่พบได้ตามวัดหรือวังที่สร้างโดยเจ้านายฝ่ายวังหน้า ซึ่งถือเป็นจุดที่ต่างจากสถาปัตยกรรมสกุลช่างวังหลวงที่จะมีนาคสะดุ้งเสมอ

ใบเสมา เป็นอีกเอกลักษณ์เฉพาะอีกอย่างหนึ่งของสถาปัตยกรรมสกุลช่างวังหน้า กล่าวคือ ใบเสมาของสกุลช่างวังหน้าจะตั้งอยู่ทั้ง 8 ทิศ และมีใบเสมาบนฐานตั้งอยู่ข้างหน้าพระอุโบสถด้วย แต่จะมีเพียงแค่ใบเดียวเท่านั้น ในขณะที่ใบเสมาใบอื่น ๆ จะอยู่บนผนังเลย โดยข้างนอกจะอยู่ที่มุมทั้งสี่ส่วนด้านในจะอยู่ที่ด้านทั้งสี่ นี่จึงเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์และความไม่เหมือนใครของงานสถาปัตยกรรมสกุลช่างวังหน้า

พระประธานประจำอุโบสถวัดชนะสงคราม

เมื่อเราเข้าไปด้านในของพระอุโบสถ เราจะเห็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยตั้งอยู่รายรอบพระอุโบสถ มีพระประธานปางมารวิชัยขนาดใหญ่ตั้งโดดเด่นเป็นสง่าเป็นประธานของอาคาร พระประธานองค์นี้มีพระนามว่า พระพุทธนรสีห์ตรีโลกเชฏฐ์ มเหธิศักดิ์ ปูชนียะชยันตะโคดม บรมศาสดาอนาวรญาณ หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า ‘หลวงพ่อปู่’ ซึ่งเป็นพระประธานเดิมมาตั้งแต่ครั้งยังเป็นวัดปลายนา ดังนั้น จึงยังคงพุทธศิลป์แบบพระพุทธรูปศิลปะอยุธยาเอาไว้ และถือเป็นพระปฏิมาที่ศักดิ์สิทธิ์และมีความสำคัญอย่างมาก เพราะมีตำนานกล่าวว่าก่อนที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทออกรบ พระองค์เสด็จมาสักการะพระพุทธรูปองค์นี้และทรงได้รับชัยชนะทุกครั้ง และยังมีเรื่องเล่า หลังสงครามเก้าทัพ พระองค์ทรงเปลี่ยนฉลองพระองค์และทรงถวายฉลองพระองค์ลงยันต์คลุมองค์พระประธานและโปรดให้แม่ทัพนายกองทำเช่นกัน เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาก่อนจะโปรดเกล้าฯ ให้โบกปูนทับไว้อีกชั้นหนึ่งอีกด้วย 

ภายในพระอุโบสถนอกจากพระประธานแล้วอีกอย่างหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของวัดนี้ ก็คือจิตรกรรมฝาผนังของพระอุโบสถแห่งนี้ ที่ช่างวาดมีการจงใจวาดภาพเทวดาโดยไม่ลงสีเพื่อให้เห็นว่าเทวดามาสำแดงฤทธิ์แต่ไม่สำแดงร่างอีกด้วย โดยภาพจิตรกรรมฝาผนังเหล่านี้บอกเล่าเรื่องราวพุทธประวัติอีกด้วย นอกจากนี้ วัดชนะสงครามแห่งนี้ ยังมีรอยพระพุทธบาทให้ประชาชนมาสักการะบูชาอยู่ด้านหลังของอุโบสถอีกด้วยค่ะ แต่เนื่องจาก Knot จอดรถแล้วเดินเข้าทางด้านหลังของวัด ก็จะเห็นรอยพระพุทธบาทก่อนขึ้นบนพระอุโบสถนั่นเอง

Virtual Visit ผ่านช่อง Trips in My Memory

ประเทศไทยเรายังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกมากมายนะคะ ในวันเดียวกันนี้ Knot และคุณ Juth ได้ไปทานอาหารเย็นท่ามกลางบรรยากาศสุดพิเศษที่บ้านจักรพงษ์ด้วยค่ะ

สุดท้ายนี้ Knot ขอฝากทุกท่านกดไลค์ กดแชร์ กดติดตาม กดกระดิ่งแจ้งเตือน ที่ Facebook: Trips in My Memory
YouTube: Trips in My Memory
IG: Trips in My Memory

แล้วพบกันใหม่ในโพสต์ต่อไปค่ะ Knot จะพยายามอัพคลิปใหม่บน YouTube สัปดาห์ละสองครั้งนะคะ วันอังคารและวันพฤหัส เป็นอย่างน้อยค่ะ ถ้าใครคิดถึงกันตามไปดูกันได้นะคะ สำหรับการโพสต์บนเว็บไซต์ Trips in My Memory Knot ก็จะพยายามอัพเดทให้ได้สัปดาห์ละครั้งเช่นกันค่ะ แล้วเจอกันใหม่นะคะ